ประวัติและตำนาน[1] ของ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)

ย้อนกลับไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลวงพ่อทวดพระเถระ ผู้เปี่ยมด้วยญาณบารมี ได้เดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา ในการนั้นท่านได้นำพา เด็กชายผู้หนึ่ง อายุราว 9 ถึง 10 ขวบมาด้วย หมายใจให้คอยปรนนิบัติรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงยังฐานถิ่นวัดเจดีย์ ก็หยุดรั้งรอหมายพบเจอสหธรรมิกครั้งศึกษาพระธรรม ยังเมืองนครศรีธรรมราช นามว่า ขรัวทอง ผู้เป็นสมภารวัด หมายสนทนาพาที ด้วยจิตอันเป็นไมตรีต่อกัน ดังมีหลักฐานนามถิ่นโพธิ์เสด็จ ไว้เป็นประจักษ์พยานว่ากาลหนึ่ง พระโพธิญาณ (หลวงพ่อทวด) ได้เดินทางมายังธรรมสถานแห่งนี้ [2]

ด้วยญาณแห่งพระผู้มีบารมี จึงรับรู้ได้ว่าในภายภาคหน้า สถานที่แห่งนี้จะเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา จึงบอกเด็กชายผู้คอยติดตามว่า

"เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิด จะต่อเกิดผลดีศรีสดใสในภายภาคหน้านั้นต่อไป จะเป็นหลักชัยในทางธรรม"

เด็กชายรับปากพระอาจารย์ แล้วตั้งสัตย์ปฏิญาณตามพระอาจารย์สั่ง หลวงพ่อทวด จึงฝากเด็กชายไว้กับ ขรัวทอง เด็กชายกลายเป็นเด็กวัดเจดีย์ คอยอยู่รับใช้สมภาร และดูแลวัดเจดีย์

ดังในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ครั้นเจ้าพระยาคืนเมืองมีท้องตรามายังเมือง "อลอง" (ตำบลฉลอง ในปัจจุบัน) มีบันทึกว่า

"...มาถึงเมืองอลอง แวะพักหนึ่งคืน นมัสการสมภารทอง มีศิษย์เกะกะชื่อไอ้ไข่เด็กวัด..."

แต่ถึงจะเป็นเด็กเกะกะซุกซนแต่เด็กชายก็เปี่ยมด้วยอานุภาพพิเศษ แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไป ชอบช่วยเหลือผู้คน หากใครมีปัญหาที่หมดปัญญาจะแก้ไข จะต้องมาออกปาก (ไหว้วาน) ทุกคราไป จึงไม่มีใครเกลียดชังถึงจะซุกซนเกเร ด้วยเป็นเด็กที่จริงจังทั้งวาจา และจิตใจ รับปากใครแล้วเป็นต้องทำให้ได้ ถึงจะเป็นอันตรายก็ตาม ว่ากันว่าควายตัวไหนพยศ หากเด็กวัดจับหางติดจะไม่ปล่อยเป็นเด็ดขาด ถึงความยจะวิ่งอย่างไร จนความตัวนั้นต้องละพยศหมดฤทธิ์

เมื่อเวลาล่วงผ่านไป ด้วยจิตอันแสดงถึงอานุภาพพิเศษ ก็รับรู้ได้ว่าพระอาจารย์ (หลวงพ่อทวด) กำลังจะเดินทางกลับจากกรุงศรีอยุธยา ด้วยกลัวว่าหากพระอาจารย์กลับมาถึง จะนำพาตนกลับสู่ถิ่นฐานที่จากมา ด้วยคำสั่งของพระอาจารย์ ที่สั่งให้เฝ้าและดูแลรักษาวัดเจดีย์ และด้วยสัจจะวาจาที่ให้ไว้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำภายในวัด เป็นการปลดชีวิตตัวเอง ตามภาษาทางศาสตร์ เรียก การเสด็จ หมายสละร่างเหลือไว้แต่ดวงวิญญาณ ไว้คอยปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ตำนานวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จากขุนพันธรักษ์ราชเดช[3]

ชาวชุมชนวัดเจดีย์ และใกล้เคียง นับถือเคารพ "ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ตั้งแต่สมัยบรรพชน สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นับย้อนหลังไปเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยถือว่า "ไอ้ไข่" คือวิญญาณของเด็กศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยช่วยเหลือชาวชุมชน และดูแลปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ แต่ไม่ได้มีการสืบค้น หรือมีมีการกล่าวถึงตำนาน เพียงแค่นับถือกันอย่างนั้นมา

จนถึงวันหนึ่งได้เกิดตำนานไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ศิษย์ หลวงพ่อทวด จากบุคคลสำคัญ นั่นก็คือ จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) ที่ได้รับฟังถ้อยคำจากหลวงพ่อทวด ผ่านร่างทรง เมื่อครั้งสมัยจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อทวด เมื่อ พ.ศ. 2497 (เนื่องจาก ท่านขุนพันธ์เป็นผู้มีส่วนร่วม ในการจัดสร้างพระชุดนั้นด้วย)

หลวงพ่อทวดถามผ่านร่างทรงว่า ท่านมาจากนครศรีธรรมราช ท่านรู้จักลูกศิษย์เราหรือไม่ เป็นเด็กวัดอยู่ทางทิศเหนือ ของนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธ์จึงสืบหาจนมาประสบพบเจอกับ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ จนได้นับถือเป็นสหาย แลกเปลี่ยนสายวิชากัน ด้วยผู้ใหญ่เที่ยงเอง ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง​ และรู้จัก " ไอ้ไข่" เป็นอย่างดี ท่านขุนพันธ์ จึงได้เจอกับลูกศิษย์หลวงพ่อทวด ที่วัดเจดีย์นามว่า "ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ตามคำบอกกล่างของหลวงพ่อทวดผ่านร่างทรง

ซึ่งเป็นไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่บรรพบุรุษชาวชุมชนวัดเจดีย์ นับถือสืบกันมา และท่านขุนพันธ์เอง ก็ได้สืบค้นศึกษาจนกลายเป็นตำนาน ไอ้ไข่ศิษย์หลวงพ่อทวด และได้ยืดถือตำนานนี้บอกเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งถือว่า ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช คือ ผู้สืบค้นตำนานนี้เป็นคนแรก

ใกล้เคียง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดเจดีย์หอย วัดเจดีย์คีรีวิหาร วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดเจดีย์ยอดทอง วัดเจดีย์ทอง (จังหวัดปทุมธานี) วัดเจดีย์ (จังหวัดนครศรีธรรมราช)